9 เทคนิคเดินป่า ยังไงไม่ให้ป่าพัง ปัจจุบันนี้กระแสนิยมการเดินป่า หรือท่องเที่ยวธรรมชาติกำลังมาแรงเป็นอย่างมาก ด้วยเพราะธรรมชาตินั้นมีพลังอย่างมากที่จะช่วยบำบัดความเครียดและเพิ่มพลังให้กับเหล่ามนุษย์ทำงานอย่างพวกเราอย่างมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นผลพวงที่ตามมาพร้อมกับการไปเยือนธรรมชาติของมนุษย์คือ กองขยะมหึมา ทั้งขวดเหล้า ขวดเบียร์ ถุงพลาสติก ทิชชู่เปียก ฯลฯ เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อราวปี 2015 กระแสนิยมไปเดินป่าที่น้ำตกปิตุ๊โกรหลั่งไหลแบบที่คนในพื้นที่เองก็เตรียมตั้งรับไม่ทัน ทำให้หลังจบสัปดาห์แรกของการเปิดป่า ปรากฎว่ามีกองขยะเกือบตันเลยทีเดียว O_o
จากผลพวงที่เกิดขึ้นนี้ เราจึงอยากแบ่งปัน เทคนิคเดินป่า ไม่ให้ป่าพัง ในแบบฉบับที่ทีมงาน TKT ใช้ในการจัดการขยะที่เรานำเข้าไปใช้ในป่า โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางให้นักท่องไพรทุกคนได้มีแนวทางการจัดการขยะที่นำเข้าไปในป่าได้ดียิ่งขึ้น
9 เทคนิคเดินป่า ด้วยใจรักษ์ แบบง่าย ๆ :
1 เทคนิคเดินป่า ลำดับที่ 1 ยืดอก พกถุงขยะ
ทุกครั้งที่ไปเข้าป่า หรือไปเที่ยวกางเต็นท์ตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ให้พกถุงขยะเล็ก ๆ ติดตัวไปด้วยทุกครั้ง เพื่อสะดวกในการนำขยะส่วนตัว เช่น กระดาษทิชชู่เปียกที่ใช้เช็ดตัวเพื่อทำความสะอาด หรือเวลาฉี่ นำลงกลับมาทิ้งด้านล่าง เพราะหากเราทิ้งกระดาษทิชชู่เปียกเกลื่อนกลาดตามพุ่มไม้ ต่อมามีนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มก็พากันมาทิ้งบ้าง สุดท้ายบริเวณลานพื้นดินก็จะกลายเป็นทุ่งกระดาษทิชชู่ขาวโพลน ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วที่ดอยหลวงเชียงดาว
2 พกกล่องข้าว ช้อน ส้อม และขวดน้ำติดตัว เป็น เทคนิคเดินป่า ที่ช่วยลดการเกิดขยะด้วยนะ
ขยะที่พบโดยส่วนมากของการไปตั้งแค้มป์ในป่า ส่วนใหญ่จะพ้นภาชนะที่บรรจุอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกผลิตมาจากโฟม พลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขวดน้ำดื่ม ที่มักจะถูกพบทิ้งเรี่ยราด จะดีกว่าไหม? หากเราทุกคนต่างก็พกกล่องข้าว และขวดน้ำติดตัวไปเอง เพื่อลดปริมาณการใช้โฟม และขวดพลาสติก ถึงแม้ว่าจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับเราก็ตาม แต่ก็ดีกว่าทิ้งขวดน้ำและจานพลาสติกไว้กลางป่า การใช้กล่องข้าวและขวดน้ำส่วนตัวนอกจากจะไม่ต้องทิ้งเป็นขยะให้ป่าพังแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการใช้โฟมและพลาสติกทางอ้อมอีกด้วย
3 เน้นใช้ทิชชู่แบบธรรมดามากกว่าทิชชู่เปียก
รู้หรือไม่ว่าขยะส่วนใหญ่ที่อยู่ในป่าจนกลายเป็นปัญหาใหญ่นั้น คือ ทิชชู่เปียก !!! ทำไมทิชชู่เปียกถึงได้กลายเป็นผู้ร้ายในป่าใหญ่ นั่นเพราะส่วนใหญ่เราจะนิยมพกทิชชู่เปียกมาเช็ดทำความสะอาดร่างกาย และนำมาใช้ทำความสะอาดหลังเข้าห้องน้ำ เมื่อทำธุระเสร็จก็ทิ้งตรงนั้นเลย!!! ด้วยเพราะเข้าใจว่าเดี๋ยวทิชชู่เปียกก็ย่อยสลาย แต่นั่นผิด O_o
เพราะทิชชู่เปียกมีส่วนผสมของเส้นใยพลาสติกที่ยากต่อการย่อยสลาย ทำให้เมื่อเราทิ้งทิชชู่เปียกไปผ่านไปหลายเดือน ก็ยังคงไม่ย่อยสลาย กลายเป็นทัศนอุจาดตาของผู้ไปเยือนทีหลัง และยังอาจเป็นสาเหตุให้สัตว์ในป่าตายไปโดยไม่ตั้งใจ ด้วยเหตุเพราะเข้าใจว่าเป็นอาหาร !!! ซึ่งแตกต่างกับทิชชู่ธรรมดาที่ย่อยสลายง่าย และควรจะทำการฝังกลับทุกครั้งหลังจากที่ทำธุระหนักภายในป่า เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและไม่ให้เป็นทัศนอุจาดตาของนักท่องเที่ยวคนอื่น (อ่านบทความ เข้าห้องน้ำในป่า อย่างไรให้ปลอดภัย)
4 เดินป่า แล้ว ต้องรู้จักแยกประเภทขยะนะ
การแยกประเภทขยะเปียก ขยะแห้ง ทุกครั้งก่อนทิ้ง จะทำให้เราง่ายต่อการจัดการขยะ โดยแต่ละประเภทจัดการดังนี้
- ขยะเปียก เราจะนำไปจัดการโดยการขุดหลุมแล้วฝังกลบ
- ขยะแห้ง เช่น ถุงพลาสติก ขวดน้ำ กระป๋องแก๊ส กระป๋องน้ำดื่ม ฯลฯ ทั้งหมดนี้เราจะขนกลับลงไปทิ้งที่ถังขยะนอกผืนป่า แต่กระป๋องแก๊สควรจะนำมีดมาเจาะกระป๋องให้เป็นรูก่อนทิ้งลงถุงขยะ เพื่อที่ว่าเมื่อนำไปจัดการด้านนอกผืนป่า กระป๋องแก๊สจะไม่ระเบิดใส่ผู้ที่ทำหน้าที่จัดการขยะ
5 เดินป่า นำอะไรเข้าไป นำกลับออกมาให้หมด
หลักการง่าย ๆ ที่แทบไม่ต้องใช้ตรรกะอะไรเลย หากเรานำอะไรเข้าไปในป่า เราก็ต้องนำสิ่งของเหล่านั้นออกมามาจากป่า เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ วิธีการง่าย ๆ ในการแพคแบ่งถุงขยะกระจายช่วยกันขนขยะออกจากป่า คือ
- แบ่งขยะใส่ถุงขยะให้กับสมาชิกในกลุ่มเดินป่า ในปริมาณที่เท่าๆกัน
- กดไล่อากาศในถุงขยะออกให้หมด มัดปิดปากถุงให้สนิท
- นำถุงขยะอีก 1 ใบ มาซ้อนอีก 1 ชั้น เพื่อป้องกันถุงขยะฉีกขาดในช่วงระหว่างเดินป่า
- นำถุงขยะมามัดติดกับด้านล่างของเป้
6 แพ้วถางพื้นที่กางเต็นท์ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้
แน่ละว่าการไปตั้งแค้มป์ภายในป่า ย่อมต้องเจอกับปัญหาพื้นที่กางเต็นท์ไม่พอกับสมาชิกในกลุ่มเดินป่า อาจด้วยเพราะพื้นที่กางเต็นท์เดิมมีน้อย หรือพื้นที่ที่มีก็ลาดเอียงและขรุขระเกินกว่าจะนอนได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ เราก็มักจะแก้ปัญหาโดยการเอามีดมาแพ้วถางเพิ่มพื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งวิธีนี้มีข้อเสียคือ เราอาจถางเอาพรรณไม้ที่สำคัญ หรือหายากออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
การกางเต็นท์นอนช่วงหน้าฝน
แต่สำหรับ เทคนิคเดินป่า ของเราคือควรใช้วิธีการนำเต็นท์มากางปูทับไปบนหญ้าและพืชเล็ก ๆ เหล่านั้นไปเลยจะดีกว่า เพราะเมื่อเราจากไปต้นไม้เหล่านั้นจะค่อย ๆ ปรับตัวตั้งตรงกลับมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งดีกว่าการถางทิ้งอย่างแน่นอน
7 ไม่ก่อไฟในพื้นที่ที่ห้ามก่อ
เคยสงสัยไหม เพราะอะไรบางพื้นที่จึงมีกฎว่า “ห้ามก่อไฟ” นั่นก็เพราะว่าบริเวณเหล่านั้นมีพืชที่อ่อนไหวต่อควันไฟ เช่น มอส ไลเคน เฟิร์น ซึ่งบางชนิดอาจจะเป็นชนิดที่หายาก และในชนิดที่หายากเหล่านั้น อาจจะเป็นชนิดที่สามารถนำมาทำยากรักษาโรคใหักับบรรดามนุษย์อย่างเรา ๆ ก็เป็นได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรฝ่าฝืนกฎ ด้วยเพียงเพราะต้องการอยากก่อไฟแก้หนาว เพราะเราไม่รู้เลยว่า เรากำลังทำร้ายใครอยู่บ้าง
8 เลี่ยงการใช้สารเคมีในน้ำ/ลำธาร
ควรเลี่ยงการใช้สารเคมี เช่น แชมพู สบู่ หรือน้ำยาล้างจาน ลงในน้ำ หรือในลำธาร เพราะสารเคมีเหล่านี้อาจทำให้สัตว์น้ำ หรือพืชน้ำได้รับอันตรายได้ คำถามที่หลายคนชอบถามคือ แล้วจะอาบน้ำ หรือ ล้างอุปกรณ์ครัว หรือจานชามได้อย่างไร?
- ว่าด้วยเรื่องของการอาบน้ำ : เราสามารถแช่น้ำน้ำเปล่า ๆ แล้วขัดถูร่างกายตามใจชอบจะดีที่สุด อ้อ ก่อนจะอาบน้ำควรอาบน้ำที่ปลายน้ำทุกครั้ง ไม่ควรอาบน้ำที่ต้นน้ำ เพราะบริเวณต้นน้ำเรามักจะนำน้ำมาใช้ดื่ม และทำกับข้าว
- ว่าด้วยเรื่องการล้างอุปกรณ์ครัว : เริ่มต้นให้ใช้ทิชชู่เช็ดทำความสะอาดคราบอาหารและคราบมันก่อน จากนั้นใช้น้ำล้างทำความสะอาด และใช้ก้อนกรวดเล็ก ๆ ริมน้ำหรือใบไม้เป็นวัสดุในการขัดถูเอาคราบสิ่งสกปรกออก
9 ไปเดินป่า แล้วก็อย่าเข้าไปเหยียบย่ำต้นไม้ /ดอกไม้
ดงดอกไม้ป่านั้นมีสีสันสวยงาม บางชนิดนั้นเป็นชนิดที่เฉพาะถิ่นมาก ๆ ยิ่งหายาก ยิ่งเป็นที่ต้องการของเหล่าช่างภาพสมัครเล่นทั้งหลาย ที่ต่างพากันไปถ่ายรูปไม่ลืมหูลืมตา จนอาจเป็นเหตุให้เกิดการเหยียบย่ำดอกไม้ หรือต้นไม้โดยไม่ได้ตั้งใจ เพื่อรักษาโอกาสให้กับดอกไม้ป่าแสนสวยได้ชูช่อดอกตามอายุขัยของมัน เราควรจะมีระยะห่่างในการถ่ายภาพดอกไม้ หรือต้นไม้นั้นเสียหน่อย เราและนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ก็จะยังคงได้พบเห็นดอกไม้ป่าเหล่านี้ไปอีกนานเท่านาน
ไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะ ? กับ 9 เทคนิคการเดินป่า ที่จะไม่ทำให้ป่าพัง เราเชื่อว่าผืนป่ามอบความสุขให้ทุกคนที่ไปเยือนอย่างเต็มที่ และเราทุกคนที่ไปเยือนก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผืนป่ายังคงสวย และสมบูรณ์ในแบบที่เขาเคยเป็นอยู่ได้ ขอเพียงแค่เราไม่มักง่าย หวังแต่ไปเพียงเติมความสุขแค่ครั้งเดียวแล้วก็จากไป