รีวิวของที่ต้องมีใน เป้เดินป่า เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าฉบับวิชามาร ที่ทีมงาน trekkingTHAI ชอบใช้เวลาที่แค้มป์แตก หรือเกิดปัญหาเฉพาะหน้า
“Go where you feel most alive.”
A Adventure in you.
“ทำให้รู้สึกเหมือนมีชีวิต” เหตุผลที่ดูเหมือนไม่ใช่เหตุผล และสุดแสนจะเป็นนามธรรมนี้เป็นเหตุผลที่ผลักให้ใครหลายๆคนแบก เป้เดินป่า เข้าสู่เส้นทางเดินป่าเที่ยวดอยมานักต่อนักแล้ว
รูปภาพลิขสิทธิ์ shutterstock
อาจเพราะเมื่อเราย่างเท้าเข้าไปโลกของธรรมชาติ เราได้กลับไปสู่โลกอันแสนสงบภายในจิตใจของตัวเราเอง ทำให้เราได้มีโอกาสค้นหาความหมายของชีวิตเราอีกครั้ง
จากสถิติของสำนักอุทยานแห่งชาติในส่วนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ ได้เก็บข้อมูลจำนวนนักเดินทางไปเดินป่า เที่ยวดอย ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นมานับตั้งแต่ปี 2557 และเพิ่มขึ้นทุกปี และในปี 2561 มีจำนวนนักเดินทางเที่ยวธรรมชาติมากถึง 19,640,382คน
การเดินป่า เที่ยวดอย มีความเสี่ยง
แต่เพราะการเดินป่า เที่ยวดอยมีความเสี่ยงที่จะเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อันตรายที่ต้องเจอแบบฉับพลัน ทำให้หลายครั้งเราต้องกลับออกมาจากป่าในสภาพสะบักสะบอม จนถึงบาดเจ็บไปเลยก็มี
ภาพลิขสิทธิ์จาก shutterstock
เรื่องคาดไม่ถึง ที่คนเที่ยวดอยต้องเจอ
อากาศหนาวเกินกว่าที่คิดไว้
หลายคนคงเคยเจอ ก่อนออกเดินทางเข้าป่า เราก็เช็คสภาพอากาศอย่างดี เตรียมพร้อมเสื้อกันหนาวไปอย่างดี แต่ให้ตายเถอะ !! ทำไมพอมาอยู่บนยอดเขาแล้วมันถึงได้หนาวเหน็บขนาดนี้
ฝนตกหนักในหน้าหนาว
เรื่องไม่คาดฝันมักเกิดขึ้นกับเราเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินป่าท่ามกลางสายฝนในฤดูหนาว แถมตัวเราเองก็ดันประมาท คิดไปว่าเข้าหน้าหนาวแล้ว ฝนจะไม่ตก แต่เป็นยังไงล่ะ หึหึ ทำไมน้องฝนถึงทำกับพี่แบบนี้
ขอขอบคุณรูปภาพจาก I am Mai Penguindoi
ต้องข้ามน้ำที่ลึกและค่อนข้างเชี่ยว
เรื่องการข้ามน้ำนี้เรามักจะไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ถ้าโป๊ะแตก !!! เดินป่าบนบกอยู่ดี ๆ ดันต้องมาเดินข้ามน้ำซะงั้น แถมเสื้อชูชีพก็ไม่มีซะอีก ทำยังไงดีนะ ??
ขอบคุณรูปภาพจากสมาชิกที่ร่วมทริปสำรวจหลักไก่ต่อรอบวันที่ 16-20 ก.ค. 59
ลมพัดแรง เสาเต็นท์หัก
ขอขอบคุณรูปภาพจากสตาฟพี่แนท
ปัญหาโลกแตกแบบนี้ เราเจอบ่อยมาก เพราะหลายครั้งเรากางเต็นท์ในที่มีลมพัดแรงมาก ดึกดึกมา ก็รู้สึกมีอะไรมาทับตัว นึกว่าผีอำ ลืมตาตื่นขึ้นมา โถ เต็นท์หล่นมาทับตัวเพราะเสาหักนี่เอง
อ่านบทความวิธีกางเต็นท์ในที่ลมแรง >>> https://shop.trekkingthai.com/2018/07/17/วิธีกางเต็นท์/
พื้นรองเท้าหลุดร่อน
เป็นเรื่องที่เราเจอบ่อยมากเมื่อเราแบก เป้เดินป่า เข้าสู่ธรรมชาติ ส่วนหนึ่งเกิดจากกาวที่ยึดพื้นรองเท้าเดินป่าเสื่อมสภาพ และเราไม่ได้สอบสภาพรองเท้าก่อนเข้าป่า พอต้องใช้งานจริง พื้นรองเท้าก็มาบอกลากับรองเท้าเดินป่าซะอย่างนั้น
อ่านบทความ ถอดรหัสเลือก รองเท้าเดินป่า สำหรับป่าเมืองไทยยังไงดีนะ >> https://shop.trekkingthai.com/2018/10/24/รองเท้าเดินป่า/
ลื่นไถลจนเกิดแผลถลอก – แขนหรือขาแพลง /ซ้น /หัก
อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด แต่ “อุบัติเหตุ” เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง การเดินป่า ปีนเขา ฯลฯ ด้วยแล้วก็ยิ่งมีโอกาสที่จะต้องเจอกับการบาดเจ็บสูงมาก แล้วถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว เราจะต้องทำอย่างไรล่ะ??
ขอขอบคุณรูปภาพจากสตาฟพี่หนึ่ง ไอ้คล้าว
รีวิว 10 ไอเทม ช่วยชีวิตคนเที่ยวดอย ที่ต้องมีใน เป้เดินป่า
1 กันหนาวด้วยถุงดำ/ฟลายชีท
ใครจะเชื่อว่า ถุงดำ หรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ที่เราใช้สำหรับทิ้งขยะจะสามารถช่วยชีวิตเราให้รอดพ้นจากความหนาวได้ ด้วยคุณสมบัติพิเศษของถุงดำ หรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่ที่มีความเหนียวและป้องกันลมจากบรรยากาศภายนอกได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เมื่อเรานำ ถุงดำ หรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่มาห่อให้แนบกับตัว ร่างกายของเราจะรู้สึกอุ่นขึ้นมาทันที จากถุงดำกลายเป็นผ้าห่มฉุกเฉินแบบฉุกเฉินไปเลยทันที
2 ลอยน้ำด้วยถุงกันน้ำ หรือ เป้เดินป่า + ถุงดำ
เราสามารถทำทุ่นลอยน้ำ หรือทำเสื้อชูชีพเพื่อความปลอดภัยเมื่อต้องลอยคอในน้ำได้ง่าย ๆ ด้วย 2 วิธี คือ
- ลอยคอในน้ำด้วยถุงกันน้ำ วิธีนี้แนะนำทำเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เพราะการรับน้ำหนักของถุงกันน้ำสามารถรับน้ำหนักได้ในเวลาจำกัด วิธีการแปลงถุงกันน้ำให้เป็นทุ่นลอยน้ำ ทำได้ง่าย ๆ โดยการนำอากาศเข้าถุงกันน้ำ รีดปิดปากถุงให้แน่นแล้วม้วนพับให้แน่น จนถุงกันน้ำพองจากอากาศที่ถูกอัดแน่นอยู่ภายใน ใช้แขนออกแรงกดถุงกันน้ำว่าทีเสียงลมออกมาหรือไม่ หากไม่มีเสียงลมออกมาก็สามารถใช้เป็นทุ่นลอยน้ำได้เลย
ทุ่นลอยน้ำด้วยเป้เดินป่า+ถุงพลาสติก
- ลอยคอในน้ำด้วยเป้เดินป่า และถุงพลาสติก วิธีนี้เหมาะมาก ๆ สำหรับนักเดินป่าที่ต้องข้ามน้ำแบบฉุกเฉิน เพราะเราไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรใหม่เลย ใช้เพียงแต่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ที่เราห่อสัมภาระภายในเป้เดินป่า และเป้เดินป่าเท่านั้น วิธีการง่าย ๆ คือเอาอากาศเข้าไปในถุงพลาสติกที่ห่อสัมภาระภายในเป้ให้พองเหมือนถุงแกงที่แม่ค้าชอบรัดให้พองสวยงาม ปิดปากถุงให้แน่นด้วยยาง จากนั้นปิดเป้เดินป่า ใช้แขนลองกดดูว่ามีอากาศออกหรือไม่ หากอากาศไม่ออกก็สามารถใช้เป็นทุ่นลอยน้ำได้เลย
3 ช่วยชีวิตคนจมน้ำด้วยแผ่นรองนอนโฟม
เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินมีคนจมน้ำในป่า กรณีที่จุดตั้งแค้มป์เราอยู่ใกล้น้ำตก สิ่งที่สามารถช่วยชีวิตคนได้เร็วที่สุดในขณะนั้นคือ แผ่นรองนอนโฟม จะแบบกางออกแล้ว หรือแบบม้วนก็ได้ แต่แบบม้วนจะรับน้ำหนักของคนได้ดีกว่า
ทดสอบเอาแผ่นรองนอนโฟมว่าจะสามารถรองรับน้ำหนักคนให้ลอยน้ำได้หรือไม่
4 เทป และไฟแช็คสารพัดซ่อมฉุกเฉิน
เทปสารพัดซ่อม Gorilla tape ดูรายละเอียด อุปกรณ์ซ่อม
2 อย่างที่นักเดินป่าควรต้องเพิ่มพื้นที่ใน เป้เดินป่า ให้มากที่สุดคือ เทป กับ ไฟแช็ค คู่หูนักซ่อม ที่สามารถซ่อมอุปกรณ์แค้มปิ้งที่ป่วยพังแบบฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี
อ่านบทความ กลเม็ดเคล็ด(ไม่)ลับ วิธีซ่อมเต็นท์ เมื่อเสาหัก>> https://shop.trekkingthai.com/2018/11/21/วิธีซ่อมเต็นท์
5 ป้องกันตัวและสัมภาระเปียกด้วยถุงดำ
หากเราต้องเจอกับสายฝนที่พร้อมใจกันเทกระหน่ำลงมาในช่วงฤดูหนาว หรือฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่หลายๆคนไม่ได้พกเสื้อกันฝน หรือร่มติดเป้ไป ด้วยเชื่อว่าเราจะไม่เจอฝน แต่อย่างว่าละนะ เรื่องไม่คาดฝันมักเกิดขึ้นได้เสมอ เคล็ดไม่ลับเมื่อเราต้องเจอกับสายฝนหลงฤดู ให้เราคว้าเอาถุงดำมาตัดเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวตรงกลางของด้านที่เป็นปลายปิดของถุงดำ และตัดรูปพระจันทร์เสี้ยวที่ด้านข้างทั้งสองด้านของถุงดำตรงบริเวณที่ตรงกับแขนของเรา เพื่อให้เอาแขนลอดออกมาจากช่องถุงดำนั้นได้
6 บรรเทาข้อเท้า-มือซ้น แพลงด้วยผ้าขาวม้า
แปลงถุงดำให้กลายเป็นเสื้อกันฝนแบบฉุกเฉิน
เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นระหว่างการเดินป่า จนเป็นเหตุให้ขาแพลง แขนซ้น แต่ไม่มีใครพกอุปกรณ์ปฐมพยาบาลไปเลย สิ่งที่สามารถช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ คือ “ผ้าขาวม้า” หรือ”ผ้าพันคอ” กรณีที่ข้อเท้าแพลง เราใช้ผ้าขาวม้า หรือผ้าพันคอ พันข้อเท้าบริเวณที่แพลงไว้ เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อเท้า ในกรณีที่แขนซ้น ให้ใช้ผ้าทำสามเหลี่ยมสำหรับพยุงแขนที่บาดเจ็บ
7 ทำที่พักฉุกเฉินด้วยไม้เท้าและฟลายชีท
การเดิน Night Trail ท่ามกลางสายฝน เป็นเรื่องที่นักเดินป่าบางคนอาจต้องเจอ ส่งผลให้บางครั้งเราและทีมร่วมเดินทางจำเป็นต้องตั้งแค้มป์ในจุดที่ไม่ได้วางแผนไว้ แถมเต็นท์เจ้ากรรมยังมาพังอีก จะทำยังไงดีล่ะทีนี้ แต๊นนนนน… เราสามารถสร้างที่พักฉุกเฉินได้ง่าย ๆ เพียงแค่มีฟลายชีทและไม้เท้า ก็ได้ที่พักหลบฝนเรียบร้อยแล้ว
8 เพิ่มพื้นที่เก็บของด้วยยางรัดผมของผู้หญิง
ยางรัดผมของผู้หญิงก็สามารถช่วยเพิ่มพื้นที่ในการแขวนของให้กับเราได้แบบลืมความเป็นยางรัดผมไปได้เลย เช่น นำยางรัดมาผูกเข้ากับเสา แล้วนำหลอดไฟมาแขวนไว้ เพื่อเพิ่มความสว่างให้กับทางเดิน หรือเป็นการ Mark พื้นที่
9 กันทากเข้าเต็นท์ด้วย เกลือ
แน่ละว่าการเข้าป่าบางครั้งก็มีสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในป่าบางพื้นที่อย่างเช่น น้องทาก แค่เจอระหว่างทางน้องทากก็สร้างความกังวลใจให้กับหลาย ๆ คนได้แล้ว แต่ถ้าเรายังต้องเจอน้องทากที่บริเวณลานกางเต็นท์อีกล่ะ โอ้โห ความกังวลใจคูณเพิ่มดับเบิ้ลมาอีกหลายยกเลยล่ะจ้า ก็แหม … คนมันกังวลนี่เนอะว่า นอน ๆ ไปแล้วจะเจอน้องทากมาจ๊ะเอ๋ใกล้ๆหูเราไหม
ขอขอบคุณรูปภาพจากสตาฟพี่ชายชา
ความกังวลใจนี้จะหมดไปได้ด้วย “เกลือ” ที่เราพกไปทำกับข้าวในป่านี่แหละ เพียงเอาเกลือไปโรยรอบ ๆ เต็นท์ แค่นี้น้องทากก็ไม่กล้ามาย่ำกรายแถวเต็นท์เราแล้ว เพราะเกลือมีคุณสมบัติดูดเอาความชื้นจากร่างของทากน้อย ทำให้ทากน้อยเกิดอาการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายจนแห้งตาย
10 ก่อไฟให้ง่ายขึ้นด้วยรองเท้าแตะ
ก่อไฟยังไงให้ติด เป็นปัญหาที่ยากและซับซ้อนมากกว่าการแก้สมการยกกำลังสองคูณXYZ เสียอีก ทั้งๆที่รู้ว่าพื้นฐานของการเกิดไฟต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกันได้แก่ เชื้อเพลิง – ออกซิเจน – ความร้อน แต่ถึงอย่างงั้นไฟก็ไม่ติดสักที
ขอขอบคุณรูปภาพจาก ongsa81design สมาชิกที่ร่วมทริปม่อนทูเลกับเรานะจ๊ะ
ยางจากพื้นรองเท้าเป็นอีก 1 เชื้อเพลิงที่ช่วยให้ไฟติดง่ายมากกว่าเดิม หากสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้า เช่น หลงป่า และอากาศหนาวมาก กิ่งไม้แห้งก็น้อย แต่ในเป้เดินป่ามีรองเท้าแตะ เราสามารถเอารองเท้าแตะมาตัดปลายส้นเท้าและเอาส่วนเสี้ยวที่ได้มาทำเป็นเชื้อเพลิง ก็จะได้กองไฟคลายหนาว และให้แสงสว่างสร้างอาณาเขตแห่งความปลอดภัยใต้ผืนป่าแล้ว
ไม่น่าเชื่อเลยเนอะว่า อุปกรณ์ที่เล็ก ๆ น้อยๆที่อยู่ในชีวิตประจำวันของ “เรา” เหล่านักเดินป่า เที่ยวดอย และก็เป็นอุปกรณ์ที่เรามีอยู่ใน เป้เดินป่า อยู่แล้ว เพียงแค่ลองเปลี่ยนมุมการใช้ “ประโยชน์หลัก” เรากลับได้รับ “ประโยชน์เสริม” จากอุปกรณ์นั้น ๆ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเลยสักบาท และกลับทำให้เราสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉินจากเรื่องที่คาดไม่ถึงได้
แค่พลิกมุมคิด ชีวิตก็เปลี่ยน
การใช้ประโยชน์จากสิ่งของรอบ ๆตัวก็เช่นกัน