เปลมุ้ง…เปลเดินป่า อุปกรณ์เดินป่า ที่นักเดินป่าต้องมี

เปลเดินป่า หรือเปลมุ้ง  เป็นอุปกรณ์เดินป่าแนวพักแรม ที่มีน้ำหนักเบา  น้ำหนักโดยประมาณ 1 กิโลกรัมเท่านั้น   มีจุดเด่นที่ตรง…

  • มีขนาดเล็ก
  • พกพาใส่กระเป๋าเป้ได้ง่าย

จึงเป็นที่นิยมของนักเดินป่าที่ผ่านการเดินป่ามาในระดับหนึ่ง ก็มักจะเปลี่ยนจากการนอนเต็นท์มาลองนอนเปลเดินป่า หรือเปลมุ้ง บางคนถึงกับพก เปลมุ้งติดตัวไปท่องไพรด้วยทุกครั้งแทนเต็นท์นอนเลยทีเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเดินป่าที่ชอบไปเดินป่าทางใต้บ้านเรา จำเป็นต้องพกเปลเดินป่า ติดเป้กันเลยทีเดียว เพราะป่าทางใต้ไม่มีลูกหาบช่วยแบก   ทุกคนจะต้องช่วยกันแบกสัมภาระเข้าป่า   การจะแบกเต็นท์ซึ่งมีน้ำหนักราวๆ 2กิโลกรัมและมีขนาดค่อนข้างใหญ่เข้าป่าจึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยนิยมนัก   เปลเดินป่า หรือเปลมุ้งจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

เปลเดินป่า /เปลมุ้ง แบบไหนถึงเรียกว่า ดี

วัตถุประสงค์หลักของ เปลมุ้ง คือเพื่อให้พกพาง่าย คล่องตัว ตัวเปลจึงต้องมีน้ำหนักเบา  ขนาดเล็กพกพาง่าย

  • ขนาดของเปลเดินป่า หรือเปลมุ้งที่ดีควรจะมีหน้ากว้างไม่ต่ำกว่า 110 เซนติเมตร  เพื่อให้มีพื้นที่ในการนอนที่กำลังสบาย  และควรจะมีความยาวไม่ต่ำกว่า  250 เซนติเมตร  เพื่อให้รองรับกับขนาดความสูงของตัวเราได้แบบกำลังสบาย ๆ (ควรใช้เปลมุ้งตามขนาดความสูงของผู้ใช้ โดยใช้วิธีคำนวณคร่าวๆ เอาความสูงของตัวผู้ใช้บวกเพิ่มด้วยความยาว 80 เซนติเมตร จะเท่ากับความยาวโดยประมาณของเปลนอนที่ควรใช้)
    • ตัวมุ้งของ เปลมุ้ง ควรจะเป็น Nylon   ที่มีความละเอียดสูง  เนื่องจากในป่านั้นเต็มไปด้วยแมลงตัวเล็ก ตัวน้อย  ตัวนั้น  ตัวนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าเขตร้อนอย่างบ้านเรา
      • ตัวสายเชือกผูกเปลมุ้งควรจะมีความยาวไม่ต่ำกว่า 4  เมตร   เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการเลือกต้นไม้ผูกเปลมุ้ง เพราะในสถานการณ์จริง คู่ของต้นไม้ในป่าไม่ได้มีระยะห่างที่เป็นมาตรฐาน   ดังนั้นหากสายเชือกเปลมุ้งมีความยาวที่สั้นเกินไป  จะทำให้การหาเลือกทำเลผูกเปลมุ้งที่ดีนั้นเป็นไปได้ยาก   

กาง เปลเดินป่า เปลมุ้ง ยังไงไม่ให้ตกเปล

        • วิธีเลือกทำเลผูกเปลเดินป่า   เทคนิคการเลือกทำเลผูกเปลเดินป่าที่ดี  ควรจะเลือกบริเวณราบ  โล่ง  ไม่ผูกขวางทางเดิน  และไม่ใกล้ลำธารมากจนเกิน
        • สำรวจต้นไม้ที่เราจะผูกเปลว่า ผุ หรือไม่  มีความแข็งแรงพอไหม  และแหงนมองด้านบนยอดไม้ว่ามีกิ่งไม้ที่ใกล้หักหรือไม่
        • ก่อนใช้ควรตรวจสอบเชือกผูกว่าชำรุดหรือไม่และควรเปลี่ยนเชือกเปลทุกๆ 2 ปีหรือเมื่อเห็นว่าชำรุด
        • นำ เปลมุ้ง กางออกผูกไว้กับเสาหรือต้นไม้ด้วยเชือกทั้งสองด้าน วิธีผูกควรผูกด้วยเงื่อนผูกเชือกที่สามารถดึงเชือกคืนกลับได้ง่ายหรือเงื่อนอื่นตามถนัดซึ่งสามารถให้ความแข็งแรงเมื่อน้ำหนักผู้ใช้ตกลงบนเปลเดินป่า และไม่ควรจะผูก เปลเดินป่า ให้สูงจากพื้นมาก   ระดับที่พอดีคือให้ผูกที่สูงในระดับเอว
        • เมื่อผูกเสร็จแล้ว  ให้กลับเปลเอาด้านที่เป็นมุ้งลงไปด้านล่าง  แล้วลองนั่งลงบนเปลมุ้ง เพื่อดูว่าเปลรองรับน้ำหนักเราได้หรือไม่
        • พลิก เปลมุ้ง กลับมาเหมือนเดิม   แล้วโยงเชือกที่ผูกติดกับตัวมุ้งผูกติดกับต้นไม้ทั้งสองด้าน   เพื่อให้ตัวมุ้งยกสูงขึ้น
        • ในที่ที่คิดว่าอาจมีมดหรือแมลงอาจไต่เข้า เปลมุ้ง ตามเชือกเปลที่ผูกไว้กับต้นไม้ ให้ทายากันยุงแบบน้ำ หรือพ่นบริเวณเชือกหัวเปลยาวประมาณ 2-3 นิ้ว หรืออาจใช้ยาเส้นบุหรี่ชุบน้ำกำใส่มือนำมาลูบบนเชือก เหนือเปลทั้งสองด้านหรืออาจใช้ยาหม่องทาก็ได้
        • วิธีการลงจากเปล ควรใช้ส่วนก้นนั่งลงในเปลเดินป่าก่อน ไม่ควรใช้ขาก้าวลงในเปลทันที อาจทำพลิกพลัดตกลงได้ง่าย

แล้วถ้าป่าที่ไปไม่มีต้นไม้ให้ผูก  แต่ดันพก เปลเดินป่า ไปจะทำยังไงดีล่ะ

ข้อดีอีกหนึ่งอย่างของเปลเดินป่า ที่ทำให้เป็นเปลที่ดีเลิศอย่างยิ่งก็คือ  เราสามารถดัดแปลงให้เป็นเต็นท์เดี่ยวที่ดีเลิศได้ยังไงล่ะจ๊ะ

วิธีผูกเปลเดินป่า ให้เป็นเต็นท์กางนอนบนพื้นราบหรือบนเตียง

        • สำรวจพื้นที่วางเปลก่อนว่าไม่มีเศษวัสดุมีคมทำลายผ้าของเปล
        • นำผ้าพลาสติควางรองพื้นก่อน เพื่อป้องกันผ้าของเปลฉีกขาดจากวัสดุใต้พื้นเปลและกันไอเย็นจากพื้นเต็นท์
        • ใช้ช่วงกลางของเชือกผูกเปลมุ้งสอดผูกในหูติดมุ้งทั้งสี่ด้าน ยกโยงปลายเชือกขึ้นผูกทั้งสี่ด้าน ให้ส่วน ผ้ามุ้งและผ้าเปลมุ้งสูงประมาณ 40-50 ซม.

วิธีผูกเปลเดินป่า เปลมุ้ง ให้เป็นเต็นท์กางนอนบนพื้นทรายหรือสนามหญ้า

        • หากิ่งไม้ยาวประมาณ 70 ซ.ม. สองท่อน และด้านหนึ่งเป็นง่าม
        • ปูผ้าพลาสติคก่อนปูผ้าเปลมุ้ง  นำกิ่งไม้ปักลงดินราว 20 ซ.ม. ให้ด้านเป็นง่ามสอดอยู่ในหูสอดตัวกลาง บนตัวผ้ามุ้งแล้วหาเชือกมัดคล้องปลายง่ามดึงลงพื้น หรืออาจใช้ก้านพลาสติคเป็นหลักหมุดได้บางกรณี (กรณีนี้ต้องระวังความเสียหายเมื่อก้านพลาสติคปักลงพื้นและต้องวางองศาการปักหมุดให้รับแรงดึงด้วย)
        • ส่วนปลายหูอีกสี่ด้านที่อยู่บนผ้ามุ้ง เอาช่วงกลางของเชือกผูกเปลมุ้งผูกกดปลายลงพื้นหาหลักหมุด ผูกยึดไว้แบบกางเต็นท์สามเหลี่ยมทั่วไป

การดูแลรักษา เปลมุ้ง

        • ห้ามซัก เปลมุ้ง ด้วยเครื่องซักผ้า ควรซักด้วยมือ ให้ซักในน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ควรใช้ผงซักฟอกมากเกินไป
        • ตากผึ่งลมในที่ร่ม ไม่ควรตากกลางแดดเป็นเวลานาน ๆ
        • ทุกๆ 6 เดือน ควรนำเทียนไขลูบบริเวณร่องซิป เปลมุ้ง ตลอดแนว เพื่อให้ซิปมีความลื่นและใช้งานนาน
        • ก่อนลงนอนบนเปล ควรตรวจสอบภายในเปลและในกระเป๋าหรือเสื้อผ้าผู้ใช้ว่ามีวัสดุที่มีคมหรือแหลม ที่อาจจะทำให้ไปเกี่ยวหรือตำผ้าเปลและมุ้งหรือไม่
        • ไม่ควรกางเปลใกล้กองไฟหรือวัสดุที่มีความร้อนมากเกินไป และไม่ควรสูบบุหรี่เมื่อนอนอยู่ในมุ้งเปล
        • การใช้ซิปรูดเข้าออกเปล ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ผ้ามุ้งและผ้าเปลขวางเข้าไปติดในร่องซิป

กะทัดรัด…พกพาง่าย…ยืดหยุ่น.. 

นี่แหละนิยามของเปล

แล้ววันนี้เพื่อน ๆ นักเดินป่ามี เปลเดินป่าติดไปเดินป่ากันบ้างแล้วหรือยังเอ่ย?

เรื่องแนะนำ