5 ขั้นตอนง่ายๆ กางฟลายชีทในที่ลมแรง ให้ตึงเปรี๊ยะ

วันนี้เราจะมาบอกเทคนิค กางฟลายชีทในที่ลมแรง ยังไงให้ตึงเปรี๊ยะ มั่นคง สวยงาม ซึ่งฟลายชีท ในบทความที่เราจะพูดถึงในบทความนี้ของเรา หากเป็นสากลหน่อยส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า ” Tarp” (ทาร์ป) ซึ่งเป็นผ้าใบกันน้ำขนาดใหญ่ สำหรับกางบังแดด ป้องกันน้ำฝนหรือน้ำค้างมาจากตัวเต็นท์อีกทีหนึ่ง เพื่อใช้ในการเป็นที่นั่งเล่น นั่งทำอาหาร หรือเป็นส่วนที่ป้องกันฝนเข้าเต็นท์อีกชั้นหนึ่งที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า Double flysheet

แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่ของฟลายชีท หรือ ทาร์ป ทำให้การกางฟลายชีทให้ตึงสวย มีความลำบาก ฟลายชีทที่มีขนาดใหญ่เมื่อกางออกมาแล้ว หากไม่รู้เทคนิค ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบมักจะเห็นว่าตัวฟลายชีทมีการหย่อน น้ำค้างหยดตามตัวฟลายชีทและหยดลงศีรษะระหว่างที่นั่งทานอาหารหรือนั่งเล่นพูดคุยกันใต้ฟลายชีทที่หย่อนยานนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดฝนตก เราจะเห็นว่ามีกองน้ำใหญ่ค้างอยู่บนฟลายชีท หรือศัพท์ที่นักเดินป่าเรียกกันว่า “ตกท้องช้าง” และยิ่งกางฟลายชีทในที่ลมแรง ความยากในการกางฟลายชีทในที่ลมแรงให้ตึงเปรี๊ยะยิ่งมีความลำบากมากยิ่งขึ้น

ก่อนจะมารู้เทคนิคกางฟลายชีทในที่ลมแรงให้ตึงเปรี๊ยะ เรามารู้จักส่วนประกอบของฟลายชีทก่อนดีกว่า

ส่วนประกอบของฟลายชีท

ฟลายชีทประกอบด้วย :

1. ส่วนหัว/ท้าย ของฟลายชีท

ส่วนหัว/ท้ายของฟลายชีท เป็นส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นส่วนแกนกลางของฟลายชีท เปรียบเหมือนเป็นสันกระดูกงูของหลังคาบ้าน ในการกางฟลายชีท เราจะใช้ส่วนหัว / ท้ายฟลายชีทในการผูกยึดกับต้นไม้ทั้งสองข้าง โดยเงื่อนที่แนะนำในการผูกยึดกับต้นไม้ได้แก่ เงื่อนตะกรุดเบ็ด หรือเงื่อนบ่วงธนูในการยึดต้นไม้ต้นที่หนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยยึดต้นไม้ต้นที่2 ด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด แล้วเก็บเชือกด้วยเงื่อนกระตุก

2. ปีกของฟลายชีท

ปีกของฟลายชีท เป็นส่วนที่อยู่ตรงกลางของตัวผ้าฟลายชีท และมักเป็นส่วนที่หย่อน หรือตกท้องช้างมากที่สุด เมื่อเกิดฝนตก

3. ปลายของฟลายชีท

ปลายของฟลายชีท คือ ส่วนที่ส่วนปลายทั้งสองด้านของตัวฟลายชีท ที่เมื่อกางฟลายชีทออกแล้ว จะทำให้ตัวฟลายชีทมีรูปร่างด้านหน้าคล้ายสามเหลี่ยมหน้าจั่ว

4. ห่วงเชือกผูกฟลายชีท

เป็นห่วงที่อยู่ตามมุมและด้านข้างของฟลายชีท เพื่อใช้ในการยึดและดึงตัวฟลายชีทเข้ากับต้นไม้ หรือหลักต่าง ๆ เพื่อให้ฟลายชีทเกิดความตึงและเกิดเป็นรูปร่างทรงสามเหลี่ยม เพื่อป้องกันน้ำฝนและน้ำค้าง หรือช่วยบังแดด

เทคนิคง่าย ๆ ที่จะทำให้ฟลายชีทของคุณตึงเปรี๊ยะ แม้ในที่ลมแรง

1 เลือกพื้นที่กางฟลายชีท

ก่อนจะกางฟลายชีท อย่างแรกเลยที่เราควรดูคือพื้นที่กางฟลายชีท ต้องมีความพอเหมาะ พอดี เพียงพอที่จะให้เรานั่งเล่น นั่งทำอาหารได้อย่างสะดวกสบาย

หลักในการเลือกพื้นที่ กางฟลายชีทในที่ลมแรง

  1. พื้นที่โล่งกว้าง ไม่มีเศษหิน หรือเศษกิ่งไม้เยอะจนเกินไป เพียงพอกับขนาดของฟลายชีท ไม่มีต้นไม้อยู่ติดกับฟลายชีท เพราะหากฟลายชีทอยู่ใกล้กับต้นไม้มากเกินไป อาจทำให้เกิดแรงเสียดสีกับต้นไม้ จนฟลายชีทขาดได้ และก่อนกางฟลายชีท ควรจะเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย ไม่ควรมีเศษก้อนหิน หรือเศษกิ่งไม้ที่อาจแทงทะลุกราวชีทระหว่างนั่ง
  2. พื้นที่กางฟลายชีท ต้องไม่เปียกชื้น เพราะนอกจากจะรู้สึกว่านั่งไม่สบายก้นแล้วยังเกิดความรู้สึกอับชื้นอีกด้วย
  3. พื้นที่กางฟลายชีท ต้องไม่ลาดเอียงจนเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกว่านั่งไม่สบายตัว และการวางเครื่องครัวเพื่อทำอาหารยังทำให้ลำบากอีกด้วย

2. ขึงเชือกกลาง

เมื่อได้พื้นที่กางฟลายชีทที่เหมาะสมแล้ว ให้ทำการขึงเชือกกลาง โดยเราจะใช้
เชือกโยงจากปลายฟลายชีท ไปยึดกับต้นไม้ หรือสมอบกด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด แล้วเก็บด้วย เงื่อนกระตุก จากนั้น เพื่อปลายฟลายชีทเปิดกว้างขึ้น เพื่อให้สะดวกในการเข้าออก ให้นำเสาไม้ หรือเสาอะลูมิเนียมที่สูงราว 1 เมตรกว่า ๆ มายกเชิดฟลายชีทให้สูงขึ้น โดยเน้นให้อยุ่ใกล้กับมุมของฟลายชีทให้เยอะที่สุด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับฟลายชีท

จากนั้นนำฟลายชีทมาพาดกับเชือกกลาง นำเชือกบริเวณส่วนหัว / ท้ายของฟลายชีทมายึดกับเชือกกลางด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ดสองชั้น เพื่อไม่ให้ฟลายชีทเบี้ยว หรือรูด แล้วจึงโยงเชือกไปยังต้นไม้ทั้งสองด้าน

3. เริ่มต้นจาก “ปีกฟลายชีท”

เมื่อยึดหัว / ท้ายฟลายชีทเรียบร้อยแล้ว ให้เราเริ่มต้นด้วยการดึงปีกฟลายชีทด้านซ้ายหรือขวาก่อนก็ได้ แล้วจึงยึดฟลายชีทเข้ากับสมอบกด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด จากนั้นมาดึงปีกฟลายชีทอีกด้าน แล้วจึงค่อยมาดึงส่วนปลายฟลายชีท โดยเลือกด้านใดด้านหนึ่งก่อน จากนั้นไปดึงปลายฟลายชีทที่ด้านตรงข้าม เราเน้นการทำด้านตรงข้าม เพื่อดึงให้ฟลายชีทได้สมมาตร ไม่เบี้ยว และตึง เมื่อเสร็จแล้วให้ทำซ้ำเหมือนเดิมกับปลายฟลายชีทส่วนที่เหลือ

4.ตรึงด้วยเงื่อนและสมอบก

ทุกครั้งที่กางฟลายชีท หรือทาร์ปที่มีขนาดใหญ่ อุปกรณ์ที่จะช่วยยึดให้ฟลายชีทมีความแข็งแรงคงหนีไม่พ้น “สมอบก” โดยปกติหากเป็นการแค้มปิ้งในป่าที่ต้องมีการเดินเท้าเข้าไป โดยส่วนมากเรามักจะใช้ไม้ทำสมอบก ที่มีความยาวราว 1 ฟุต หรือมากกว่า แล้วฟันปลายไม้ให้มีปลายแหลม เพื่อให้ง่ายต่อการตอกลงดินในลักษณะทำมุม 45 องศา แล้วจึงดึงฟลายชีทให้ตึง แล้วนำเชือกจากมุมของฟลายชีทมายึดด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด

“เงื่อน”ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับฟลายชีท หลายครั้งที่ฟลายชีทมักจะสะบัดเมื่อเจอลมแรง ก็มักจะมีสาเหตุเกิดจากผูกเชือกไม่แข็งแรงและสมอกบกไม่มั่นคงพอ เงื่อนที่ส่วนใหญ่นิยมใช้กันคือ เงื่อนตะกรุดเบ็ด แล้วเก็บเชือกด้วยเงื่อกระตุก เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บฟลายชีทเมื่อจะกลับบ้าน

5. เพิ่มความตึงเปรี๊ยะอีกนิดด้วย “เสา”

เพื่อเพิ่มความโปร่งโล่งสบาย และความตึงเปรี๊ยะให้กับฟลายชีท “เสา” เป็นผู้ช่วยสำคัญที่ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี หากเป็นการเดินเท้าเข้าป่าที่ค่อนข้างหนัก เราจะหาตัดไม้ที่มีแนวตรงสูงสำหรับเป็นเสากลาง ดันให้ฟลายชีทสูงขึ้นเพิ่มความโปร่งโล่ง

หาไม้สูงราว 1 เมตร เพื่อนำมาดันเชือกฟลายชีทบริเวณด้านปลายฟลายชีท กับปีกฟลายชีท เพื่อดันให้ฟลายชีทตึงและเปิดโล่ง เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าออก

เป็นอย่างไรบ้างคะ ไม่ยากเลยใช่ไหม ?

กับเทคนิคการกางฟลายชีทในที่ลมแรงให้ตึงเปรี๊ยะ เพื่อป้องกันน้ำฝน และการควบแน่นจากอากาศที่อาจทำให้เกิดน้ำหยดจากฟลายชีท (condense)

ไปตั้งแค้มป์รอบหน้า อย่าลืมนำเทคนิคนี้ไปใช้กันดูนะคะ แล้วอย่าลืมถ่ายรูปฟลายชีทแค้มป์มาอวดกันบ้างน้า

………………………………

ผู้เขียน I am Mai Penguindoi

 

เรื่องแนะนำ