กลิ่นอายของคราบคาวตะไคร่น้ำที่เกิดจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้วยังไม่ทันจางหายดี พอย่างเข้าหน้าฝนเมฆดำก็ตั้งเค้ามาอย่างต่อเนื่อง และหมุนเวียนกันตกลงมายังเบื้องล่าง มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ปีนี้ฝนมาไวกว่าปกติ แต่เมื่อเข้าช่วงหน้าฝนแล้ว ในวันใดก็ตามที่ฝนไม่ตกเราก็จะรู้สึกว่าร้อนอบอ้าวมากกว่าปกติ เหตุการณ์ความเกินพอดีทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนเกิดจากธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปทั้งสิ้น
ไม่ได้เกิดและเป็นผลเฉพาะบ้านเราด้วย แต่ทว่าสาเหตุและผลของมันนั้นกระทบกับทุก ๆ มุมโลกเลยเทียว นี่คือคำเตือนของธรรมชาติ ธรรมชาติตำหนิมนุษย์ โดยตรงว่าทำไม่ถูกอย่างไร ทำเลยเกินพอดีไปมากน้อยขนาดไหน ธรรมชาติสามารถบอกได้จากปรากฏการณ์น้ำท่วม ฝนแล้ง หนาวจัด อดอยากแห้งแล้ง สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากอะไร ถ้าไม่ใช่คำเตือนของธรรมชาติ เราอาจจะเกลียดชังน้ำท่วมอยู่ไม่นานนัก แต่มีเวลาอันยาวนานที่เป็นช่วงเวลาของความแห้งแล้ง กรุงเทพฯ อาจจะไม่ได้รู้จักความแห้งแล้งนั้นมากนัก เพราะสังคมเมือง ซึ่งต้องระดมสรรพสิ่งให้เข้ามาสู่สังคมแห่งนี้ มันสร้างภาพให้เราห่างเหินจากความเป็นจริงของธรรมชาติในชนบทนั้น
เมื่อหมดฝน เพียงย่างเข้าต้นฝนเท่านั้น สภาพความแล้งก็จะมาเยือนชาวบ้านทันที ภาพของชาวชนบทที่ต้องออกจากบ้านไปตั้งแต่ตีสาม หาบกระป๋องน้ำบ้าง เข็นรถบรรทุกปี๊ปใส่น้ำบ้าง เพื่อออกไปรองน้ำ รอเป็นชั่วโมงกว่าจะได้น้ำสักกระป๋องนั้น นั่นไม่ใช่ภาพที่นักโฆษณาประชาสัมพันธ์ มือดีมาเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นแล้วบนผืนแผ่นดินนี้ นอกจากน้ำใต้ดินแล้ว หน้าแล้ง น้ำในแม่น้ำและลำห้วยต่าง ๆ มาจากไหน ทั้ง ๆ ที่ฝนก็ไม่ตกมาตั้งนาน (อันนี้ต้องขอละกับคำตอบที่ว่าน้ำมาจากเขื่อน เพราะเขื่อนก็รับน้ำที่มาจากลำห้วยต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่เขื่อนมาบังคับให้น้ำไหล ตามที่เราต้องการเท่านั้นเอง) แม้ว่าปริมาณของน้ำจะลดลงไปบ้างในช่วงแล้งก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าลำห้วยและโตรกธารหลายแห่งก็ไม่ถึงกับขาดน้ำ
เพราะต้นห้วยของธารน้ำสายนั้นมีที่มาจากผืนป่า ผืนป่าที่เป็นป่าต้นน้ำ
ในผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์นั้น ต้นไม้ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเบียดเสียดในพื้นที่เดียวกัน โดยในชั้นล่างสุดบรรดาต้นไม้เล็ก ๆ เฟิร์น ขิงป่าขึ้นปกคลุมดินในชั้นที่สองนั้นจะมีต้นไม้เตี้ย ๆ อย่างกล้วยป่าบ้างหรือต้นไม้อื่น ๆ บ้าง ส่วนในชั้นที่สามจะเป็นลำดับของต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นสูง แผ่กิ่งก้านปกคลุมให้ร่มเงากับไม้ในชั้นที่หนึ่งและที่สอง ในชั้นที่สามจึงเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่และโดดเด่นกว่าไม้ในชั้นอื่น ๆ ป่าประเภทนี้จึงมักเป็นป่าที่มืดครึ้มอากาศเย็นและแสงสว่างแทงลอดใบไม้ลงไปถึงพื้นดินเบื้องล่างได้ค่อนข้างยาก ป่าเหล่านี้จะมีกลิ่นอายของธรรมชาติของป่าเกิดขึ้นคือ มีต้นไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ที่หักล้ม ร่วงหล่นลงมาทับถมกันบนพื้นดิน และเพราะอากาศที่หนาวเย็นนี้เอง ที่ทำให้กระบวนการย่อยสลายบรรดาซากพืชเหล่านี้เกิดขึ้นได้ช้ามาก จึงทำให้สารอินทรีย์ที่ทับถมอยู่บนพื้นดินมีความหนามากขึ้น ครั้นเมื่อถึงฤดูฝน เม็ดฝนที่ตกลงมาถูกใบไม้ของต้นไม้ใหญ่เหล่านั้นจะแตกเป็นฝอย และตกลงกระทบกับบรรดาต้นไม้ใบไม้ในชั้นต่าง ๆ ตามลำดับ ความแรงของเม็ดฝนถูกทำให้เบาลงแล้ว จะค่อย ๆไหลลงไปตามกิ่งก้าน ลำต้น และลงสู่พื้นดินอย่างช้า ๆ สารอินทรีย์ที่ทับถมกันอย่างหนานั้นก็จะทำหน้าที่เหมือนกับฟองน้ำที่จะค่อยซึมซับเอาน้ำฝนไว้เป็น ฟองน้ำขนาดมหึมา ที่ธรรมชาติได้สร้างไว้ และเมื่อฟองน้ำอิ่มตัว น้ำส่วนหนึ่งก็จะค่อย ๆ ซึมลงไปเก็บไว้ใต้ดินอีก ส่วนหนึ่งรากของต้นไม้ก็จะดูดเก็บไว้ น้ำที่เหลือก็จะค่อย ๆไหลมารวมกันกลายเป็นลำธารสายเล็ก ๆ ไหลจากผืนป่าที่สูงมายังพื้นราบเบื้องล่าง ทำให้เกิดเป็นแม่น้ำสายต่าง ๆ ในบ้านเรา
ถ้าถามว่าอะไรเป็นตัวสำคัญในการเก็บน้ำไว้ ก็คงจะต้องตอบกันว่าคือสารอินทรีย์ที่ว่านั่นเอง แต่เราต้องไม่ลืมว่า เจ้าสารอินทรีย์ที่ว่านั้นก็เป็นผลิตผลที่มาจากป่า ในหน้าแล้งที่ฝนไม่ตกลงมา แต่เรายังคงเห็นว่าตามลำห้วยลำธารหลายสายในผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์นั้น ยังคงมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นเพราะน้ำที่ออกมาจากบรรดาฟองน้ำที่อมน้ำ ขับน้ำไว้เหล่านี้นั่นเองที่ปล่อยน้ำออกมาให้เราได้เห็นและใช้ แม้ว่าฝนจะไม่ตกก็ตาม….. เมื่อป่าต้นน้ำหรือป่าบนภูเขาถูกทำลายลงอย่างในปัจจุบัน ต้นไม้ถูกโค่นเอาพื้นที่ไปทำการเกษตร ความต้องการพื้นที่มีมาก จนไม่ได้คำนึงถึงความเกี่ยวเนื่องของธรรมาชาติใบไม้ที่เคยทำหน้าที่บดบังแสงอาทิตย์ ไม่ให้ส่องลงมาแผดเผาพื้นดินในป่าโดยตรง และช่วยให้อากาศในป่าเย็นลงนั้น มาบัดนี้ก็ไม่มีรากไม้ที่เคยยึดเม็ดดินไม่ให้ถูกชะล้างได้โดยง่ายก็หายไป ความร้อนจากแสงอาทิตย์จะทำให้สารอินทรีย์เหล่านั้นแห้งจนกลายเป็นผุยผง เมี่อฝนตกลงมาความแรงของฝนก็จะชะล้างเอาอินทรีย์สารเหล่านั้นและดินไหลลงมาอย่างรวดเร็วความเร็วของสายน้ำที่ไหลลงมาจากที่สูง ไม่มีอะไรไปทัดทาน อุทกภัยก็เกิดตามมา สารอินทรีย์ที่เบากว่าก็จะลอยไปกับน้ำและไหลลงทะเลในที่สุด ส่วนดินทรายที่หนักกว่าก็จะตกตะกอนอยู่ในแม่น้ำ ที่เป็นเขื่อนกั้นก็จะมาทับถมตกตะกอนทำให้เขื่อนตื้นเขิน สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการสร้างแม่น้ำของป่าที่สูง จึงมีคำอธิบายที่ว่าป่าธรรมชาติที่เอื้อประโยชน์ให้กับมนุษย์นั้น จะต้องเป็นป่าที่มีต้นไม้ขึ้นคละเคล้ากันไปทั้งไม้เล็กไม้ใหญ่ขึ้นในระยะที่ไม่ได้กะเกณฑ์
แต่ทุกสรรพสิ่งในป่าจะทำหน้าที่ของมันเอง ป่าปลูกต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณป่าต้นน้ำ จึงไม่อาจเห็นว่ามันทำหน้าที่ตรงนี้แต่อย่างใด อินทรีย์สารก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้เพราะอุณหภูมิสูง การย่อยสลายมีมากขึ้น การที่อินทรีย์สารเหล่านี้จะมาทำหน้าที่เป็นฟองน้ำก็ไม่มี ทั้งนี้เพราะว่า ป่าไม้ใบไม้ที่ถูกทำลายลงไปนั้นไม่อาจจะบดบังแสงอาทิตย์ได้นั่นเอง เราจึงเห็นว่าในป่าปลูกทางภาคเหนือก็ไม่มีความชุ่มชื้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกโดยหน่วยงานใดก็ตาม เราอาจจะใช้เทคนิค หรือวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเข้ามาแก้ไขปัญหาการพังทลายของหน้าดินที่ไร้รากไม้ยึดเกาะได้ เราอาจจะสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สำหรับเก็บกักน้ำที่ไหลมาจากภูเขาได้ แต่เราไม่สามารถสร้างป่า ที่เป็นเสมือนแหล่งขับน้ำในธรรมชาติได้ เราจะเอาความรู้ใด ๆ มาทำเลียนแบบกระบวนการทางธรรมชาติได้และเราจะใช้เงินสักเท่าใดที่จะปลูกคืน ป่าที่เราปลูกขึ้นมานั้นให้ทำหน้าที่เป็นแหล่งขับน้ำเป็นป่าต้นน้ำได้ดังเดิม ในปัจจุบันบ้านเราเหลือป่าธรรมชาติอยู่ไม่ถึง 20% นี่เป็นตัวเลขของทางการ แต่จากความเป็นจริงเราน่าจะเหลือป่าที่เป็นป่าจริง ๆ คือเฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขตอุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หรือเขตป่าอนุรักษ์ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่นั้น น่าที่จะเหลือไม่ถึง 14% ด้วยซ้ำไป เพราะป่าสงวนแห่งชาตินั้นในสภาพปัจจุบันไม่รู้ว่าจะเหลืออยู่จริงเท่าไหร่ในป่าอนุรักษ์ที่ว่าเหลืออยู่ 14% นี้ ไม่ได้เป็นป่าต้นน้ำทั้งหมด บางส่วนแม้อยู่ในเขตอนุรักษ์ แต่ก็มีสภาพเป็นทุ่งหญ้าอย่างเช่นที่ทุ่งแสลงหลวงหรือเขาค้อ พื้นที่ในการขับน้ำตามกระบวนการข้างต้นก็น้อยตามไปด้วย และปัญหาของป่าต้นน้ำตอนนี้ก็คือการบุกรุกแผ้วถางป่าต้นน้ำต่าง ๆ
ข่าวคราวเรื่องชาวเขาที่อาศัยอยู่ใจกลางป่าคลองวังเจ้า กำแพงเพชร ชาวเขาที่สร้างชุมชนอยู่ในกลางป่า ผาช้าง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง และที่ชัดเจนเป็นอย่างมากก็คือ การล้างพื้นที่ป่าต้นน้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ทำเป็นไร่กระหล่ำ และยังมีที่อื่น ๆ อีกมากมายที่ในขณะที่ชาวพื้นราบกำลังตื่นแต่ตี 3 ออกไปรอน้ำดื่มเพียง 1 ปี๊ป ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ชาวเขาบนป่าต้นน้ำกำลังวางแผนว่า วันรุ่งขึ้นจะขนกระหล่ำใส่รถปิกอัพไปขายในเมืองอย่างไร เอาเงินไปฝากแบงค์แล้วจะซื้ออะไรกลับขึ้นมาบนดอย นี่เป็นภาพเปรียบเทียบ 2 ภาพให้เห็นกันชัด ๆ การที่คนหลายกลุ่มชนมาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องจำเป็นทรัพยากรมีจำกัด เราต้องลงมานั่งคุยกันแล้ว เรามีบ้านหนึ่งหลัง มีห้องหลายห้อง ชาวเขาอยู่ห้องหนึ่ง เราได้ใช้น้ำที่ในยามฝนตกแล้วมีหลังคาคือป่าไม้ รองรับน้ำไว้ให้เราจองไปดื่มกิน แต่วันดีคืนดีชาวเขาบอกไม่เอาแล้ว เขาขอขึ้นไปบนหลังคา เจาะทะลุหลังคาบ้านเสีย แม้จะเป็นหลังคาในส่วนห้องเขา แต่นั่นก็คือหลังคาของบ้าน บ้านที่เราอยู่อาศัยร่วมกัน ป่าไม้ที่เกิดประโยชน์ร่วมกัน ชาวเขาจะพัฒนาชีวิตอย่างไรไม่มีใครว่าแต่การที่เข้าไปรุกล้ำบริเวณป่าต้นน้ำเพื่อสร้างแหล่งทำกินนั้นไม่สมควร
คนพื้นราบ ถางป่าก็ถูกจับ ชาวเขาถางป่าทำไมได้รับการเห็นใจ อันนี้น่าคิด น่าคิดว่าเรากำลังเอาเมตตาธรรม มาใช้จนเกินพอดีไปหรือไม่ผมไม่ได้สร้างภาพว่าชาวเขาเป็นผู้ร้าย เพราะเดี๋ยวจะมีคนแย้งมาอีกว่าเราเองที่อยู่ในสังคมเมืองที่สมบูร์ทุกอย่างนั้นกำลังจะขีดกั้นให้ชาวเขาเป็นรองเรา องค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งก็เลยออกโรงเรื่องสิทธิของเขาที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว เรียกว่าโอบอุ้มชาวเขาเต็มที่ แต่ผมกำลังอยากจะให้เปรียบเทียบระหว่างชาวเขาที่ขึ้นไปอยู่ในแหล่งต้นน้ำกับภาพของชาวบ้านในชนบทที่ขาดแคลนน้ำในยุคปัจจุบัน
โลกยุคใหม่เป็นโลกที่ต้องมานั่งคุยกันในเรื่องทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ไม่ใช่ยุคสร้างบ้านแปลงเมือง ยุคที่ต้องมาหักร้างถางพงเหมือนในอดีต ผมเคยได้ยินพ่อหลวงจอนิ จากเชียงใหม่พูดว่า “เราว่าแต่ชาวเขาว่าเป็นคนทำลายป่า ทางภาคอีสานไม่มีชาวเขา ป่าก็ไม่เหลือเหมือนกัน” ออกจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนสักนิด เราไม่ใช่หาผู้ร้ายมารับผิดเรื่องทำลายป่า แต่เรากำลังบอกกันอยู่ว่าใครก็ตามไม่ควรที่จะทำลายป่าทั้งนั้น การที่กระเหรี่ยง หรือชาวเขาอื่น ไม่มีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตที่ยาวนาน ความเชื่อความนับถือต่าง ๆ น่าที่เราจะควรเคารพในสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราอพยพเขาลงมาจากป่าต้นน้ำ ประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ ของเขาก็จะขาดหายไป แต่ไม่รู้ว่าเราลืมดูวัฒนธรรมประเพณีของคนในชนบทบ้างหรือเปล่า ว่าความแห้งแล้งอันเป็นผลพวงมาจากการทำลายป่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนชนบทแตกสลายไปเหมือนกัน การเข้ามาโอบอุ้มชาวเขาให้อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำต่าง ๆ กำลังเป็นดาบสองคม เราอาจจะได้ชาวเขาที่มีความพอใจในถิ่นที่อยู่เดิม แต่ชาวพื้นราบกำลังได้รับความกระทบกระเทือนอะไร คือจุดกลาง ๆ ของปัญหานั่นแหละคือสิ่งที่เราจะต้องมานั่งพูดคุยกัน เพียงเพื่อจะช่วยเหลือชาวเขาที่อยู่ในป่าต้นน้ำแล้วเลยผลักดันป่าชุมชน ที่มีเนื้อหาเหมือนการเปิดป่ายังไงยังงั้น ก็จะเป็นดาบสองคมเหมือนกัน เรื่องสำคัญอย่างนี้จำเป็นต้องรีบเร่งพิจารณากันให้รอบคอบ เพราะนั่นหมายถึงอนาคตของประเทศเราทั้งประเทศ คนทุกชนชั้นที่จะต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเหมือนกัน เพราะขืนว่าเราทำตัวหรือมีความคิดเอียงกะเท่อย่างนี้ ต่อไปถ้าป่าแม้นลุงผล คนบ้านผมอพยพครอบครัวขึ้นไปถางป่าบนภูเขาบ้าง อยากรู้ว่าองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลายจะคุ้มครองหรือไม่ จะให้ความสำคัญกับเขาหรือไม่ ไม่มีใครอยากจะทนเสียภาษีในขณะที่ถูกเอาเปรียบอยู่อย่างนี้หรอกครับ คนอีกส่วนหนึ่งเอาภาพความอ่อนด้อยมาเอาเปรียบสังคม ในขณะที่คนในชนบทก็อ่อนด้อยเหมือนกัน แต่เขาก็ยังต้องทำตามระเบียบสังคมต่างกันนะครับ หรือเป็นเพราะว่าถ้ามาชูภาพชาวชนบทแล้วจะขอเงินต่างประเทศไม่ได้ ไม่เหมือนชูภาพชาวเขาเขียนโครงการเสนอไปทีไรได้รับเงินมาช่วยเหลือทุกที ความคิดนี้อย่าไปจริงจังครับเพราะเพียงแต่มันแว่บขึ้นมาในความคิดผมเท่านั้นเอง ประเทศชาติไม่ได้ประกอบจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สังคมไม่ใช่ยุคบรรพกาลที่ทรัพยากรธรรมชาติมีล้นเหลือ การที่จะทำอะไรที่กระทบกับธรรมชาติอันส่งผลมาถึงคนส่วนใหญ่ น่าที่จะได้รับการพิจารณาอย่างถ่องแท้และถี่ถ้วน
ป่าเปรียบเหมือนหัวใจของมนุษย์ สายน้ำเสมือนเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย แต่วันนี้เรากำลังจะสูญเสียป่าต้นน้ำ เลือดจะแห้งหมดร่าง ความหายนะกำลังมาเยือน
ป่ากำลังจะตาย………..
ลำห้วย ลำธารกำลังจะตาย……..
และผู้คน ก็กำลังจะตาย………..