เดินป่าเขาใหญ่ เส้นทางที่นักเดินป่าหลายๆคนตั้งเป้าเป็นสถานที่เดินป่าในใจ
เขาใหญ่ Khao Yai …
ชื่อเสียงที่เราทุกคนต่างคุ้นเคยกันมาอย่างช้านาน เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งที่อุดมไปด้วยพืชพรรณนาๆชนิด และสัตว์ป่ามากมายหลากหลายสายพันธุ์
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติที่แรกของประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นมรดกทางธรรมชาติของไทยและของโลก ที่พอพูดถึงเขาใหญ่ ไม่มีใครไม่รู้จัก
ด้วยความเป็นใจหลายๆอย่างของสถานที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่ไม่ได้ห่างไกลจากตัวกรุงเทพหรือปริมณฑลมากมายนัก บรรยากาศเขาใหญ่ก็ดีไม่แพ้ที่อื่นๆ และยังรายล้อมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวหลายรูปแบบ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ที่บอกเลยว่า ใครคิดจะไปเที่ยวเดินป่า แคมป์ปิ้ง พักผ่อนกับเพื่อนครอบครัวสไตล์ดื่มด่ำธรรมชาติ เขาใหญ่ก็เป็นทางเลือกแรกที่หลายๆคนจะต้องไปแน่นอน
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของเขาใหญ่นี้ มีทั้งพืชพรรณและสัตว์มากมายหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น หวายแดง เครือพูเงิน หรือ โมลีสยาม ส่วนเหล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบได้มากถึง 70 ชนิด เช่น ช้างป่า กระทิง หมาใน เก้ง กวาง ชะนีมือขาว และลิงกัง และยังมีสัตว์ป่าที่สำคัญที่หลายอย่างไม่ว่าจะเป็น แมวลายหินอ่อน หมีควาย และเลียงผา ที่บอกเลยว่า สัตว์บางชนิดเห็นแล้วก็ตื่นตาตื่นใจ แต่สัตว์บางชนิด เราก็ควรเว้นระยะห่าง Social Distancing กับพวกเขาไว้ดีกว่านะคะ : )
ช้างป่า (Asian Elephat)
พี่เบิ้ม ไซส์บิ๊ก เจ้าถิ่นแห่งป่าเขาใหญ่ เป็นสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ จะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ตั้งแต่ 5-7 ตัวไปจนถึงขนาดใหญ่ เกือบ 30 ตัวเลยทีเดียว โดยช้างพังที่มีอายุมาก จะเป็นผู้นำฝูง โดยเจ้าช้างป่าพวกนี้แหละ พบได้ในป่าแทบทุกประเภท โดยฝูงช้างจะออกหากินแต่ละ ใช้เวลาถึง 16-18 ชั่วโมง
โดยสมัยนี้ช้างป่ากำลังเพิ่มจำนวนขึ้น ในหลายๆอุทยานแห่งชาติ เราจึงมีโอกาสที่จะพบช้างได้บ่อยขึ้น เวลาไปทริปเดินป่า หรือไปกางเต็นท์ในเขตอุทยานแห่งชาติต่างๆ เวลาเจอแล้วหลายคนก็ทำตัวไม่ถูก
แต่เบื้องต้นโดยธรรมชาติแล้ว “ช้าง” เป็นสัตว์ที่ฉลาด สุภาพ ชอบความเป็นส่วนตัว มีอารมณ์ ความรู้สึกหลายอย่างเหมือนกับมนุษย์เราเนี่ยแหละค่ะ อาจจะมีนิสัยดุร้ายได้บ้างใน เวลาตกมัน … วันนี้เทรคกิ้งไทยอยากแนะนำวิธีเพื่อให้เราสามารถรับมือได้ดีขึ้น เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์นี้ค่ะ
เดินป่าเขาใหญ่ แล้วบังเอิญเจอช้างป่า
นักเดินป่าอย่างเรา “ควรทำ” หรือ “ไม่ควรทำ”อะไรบ้าง ?
เดินป่าเขาใหญ่ เจอช้างป่า “สิ่งที่ควรทำ”
- เวลาเพื่อนๆเข้าไปในป่า แล้วเจอกับช้างป่า หรือแม้กระทั่งสัตว์ชนิดอื่นๆ ให้เพื่อนๆ ท่องให้ขึ้นใจเลยว่า “หยุด ถอย ค่อยๆหลบ” ไม่ว่าจะช้างหรือสัตว์อื่นๆ จะมีจมูกและหูที่ดีมากๆ หากเรารีบวิ่งหนี ส่งเสียงดัง เหมือนเป็นการที่เราไปกระตุ้นสัญชาติของพวกเขา ทำให้พวกเขาตกใจ และจะวิ่งตามเรามาทันทีค่ะ หากไม่ได้เจอประชิดจนเกิดการพุ่งชาร์จ การมีสติจึงสำคัญ
- จากนั้นให้สังเกตอารมณ์ของช้างก่อนเลยนะคะ ว่าช้างอยู่ในอารมณ์แบบไหน โดยสังเกตจากว่า ถ้าหูช้างสะบัดไปมา หางแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือกำลังหาอาหารกิน ไม่ค่อยสนใจเรา แสดงว่าช้างกำลังอารมณ์ดี มีโลกส่วนตัวของเขา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ ช้างหูตั้ง ไม่สะบัดหาง หรือหางชี้ งวงตีพื้นย้ำๆ และอาจจ้องมาที่เรา แสดงว่าสถานการณ์เริ่มไม่ค่อยดี เขารู้สึกว่าเรามีโอกาสเป็นภัยคุกคาม ต้องแสดงท่าที่ยอมแพ้ ค่อยๆถอยออกมา
- ถ้าเจอในขณะอยู่บนรถ ให้เราหยุดรถค่ะ ให้ทางช้างป่าเจ้าถิ่น ได้เดินผ่านไปก่อน และทิ้งระยะห่างอย่างน้อยประมาณ 30 เมตร แต่ถ้าช้างเริ่มเดินเข้ามาทางรถเรา ให้ค่อยๆเคลื่อนรถถอยช้าๆแบบมีสตินะคะ โดยเฉพาะเมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้างฝูงที่มักมีช้างเด็กๆอยู่ด้วย
- ถ้านอนในเต็นท์แล้วช้างเดินเข้ามาใกล้ ตั้งสติให้มั่น สงบแต่ระวังตนเอง เตรียมตัวให้ขยับได้ไว อย่าทำให้ช้างตกใจ จนอาจเลือกทำลายเต็นท์ ในจิตใจก็ขอให้คิดในทางบวก ให้ต่างคนต่างไป เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่สัตว์ป่ารับรู้ความเป็นมิตรหรือเป็นภัยหรือความกลัวจากเราได้จริง
- ถ้าต้องวิ่ง ทีมงานเทรคกิ้งไทยที่ผ่านการเผชิญกับช้างระยะใกล้มาบ้าง กรณีช้างเลือกโจมตี ก่อนที่จะวิ่งสุดชีวิตให้ดูตั้งแต่ 15 วินาทีแรกเลยว่า ทางแบบไหนช้างตามไม่สะดวก ได้แก่ ที่ลาดชัน หรือวิ่งหักศอกไปมา จะขึ้นต้นไม้ก็ต้องไปให้สูงเกินงวงตี และแข็งแรง บางท่านเลือกเข้าไปในดงไผ่หนามก็มี ทั้งนี้ถ้าต้องวิ่งก็ไปให้ไวที่สุดและระวังไปด้วยเท่าที่ทำได้เลยนะคะ
เดินป่าเขาใหญ่ เจอช้างป่า “สิ่งที่ไม่ควรทำ”
- ไม่สร้าง “เสียง แสง หรือ กลิ่น” ให้ช้างตกใจ เพราะเขาจะรับรู้ได้จากสิ่งต่างๆเหล่านี้ เช่น การตะโกน หรือส่งเสียงเมื่อเราตกใจ การใช้แฟลชถ่ายรูปเมื่อพบเจอช้าง หรือแม้กระทั่งการฉีดน้ำหอม เมื่อช้างหรือสัตว์ป่าอื่นๆได้กลิ่นที่ไม่คุ้นเคยออกไป จะทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงภัยคุกคามที่กำลังจะเข้ามาค่ะ ถ้าเจอช้างห่างจากเราในระยะ 50 เมตรขึ้นไปช้างจะไม่รู้สึกว่าเราไปคุกคามเขา แต่ถ้าในระยะไม่เกิน 20 เมตรโดยประมาณ เราต้องอย่าเผชิญหน้า หรือสร้าง เสียง แสง หรือกลิ่น ที่จะไปกระตุ้นสัญชาติญาณของพวกเขา อย่าไปเขวี้ยงของใส่เขา
- ไม่ควรจอดรถดูช้างใกล้เกินไป เพราะอาจจะเป็นอันตรายได้ หากช้างกำลังอารมณ์ไม่ดีอยู่ บางท่านไม่กังวลเลยประมาทตรงนี้ไป
- ไม่บีบแตร หรือใช้แฟลชถ่ายรูป หรือเปิดไฟกระพริบใส่ สัญญาณพวกนี้ก็คล้ายกับเราบอกเขาว่า อยากมีเรื่อง ช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก ๆ (ใบหุใหญ่กว้าง) เสียงแตรแหลมๆจะทำให้ช้างตกใจและโกรธได้ พอทำให้ช้างเกิดอารมณ์หงุดหงิด เขาก็จะพุ่งเป้ามาหาเราได้ค่ะ ดังนั้นหลีกเลี่ยงที่จะทำอะไรที่เป็นจุดสนใจในทางคุกคามช้างนะคะ
- ไม่ควรดับเครื่องยนต์ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เราจะหนีไม่ทัน แต่ให้เสียงทุ้มของเครื่องยนต์เป็นปกติ ช้างป่าในเขตอย่างเขาใหญ่จะคุ้นและแยกเสียงรถหลายอย่างออกอยู่แล้ว
- มีจังหวะเหมาะสมก็อาจโทรบอก แจ้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลมาช่วยเหลือต่อไปนะคะ
จริงๆแล้ว ช้างเป็นสัตว์ที่รักสงบมากๆ ถ้าเราเจอสถานการณ์แบบนี้ ก็ขอแค่เราตั้งสติให้มั่น ลองเอาวิธีที่เราแนะนำไปปรับใช้ดู น่าจะช่วยให้เพื่อนๆ รับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดีมากขึ้น
จงตระหนักว่า ช้างป่าคือเจ้าถิ่น เราเป็นแค่ผู้ไปเยือน ถ้าเคารพกัน มีจิตใจที่ดีส่งให้แก่กัน เราก็จะพบกันและจากกันด้วยดีเสมอ
เพื่อนๆคนไทย อยากไปเดินป่า สัมผัสประสบการณ์เจอช้างป่า (แบบปลอดภัย) บอกเราสิ ..
เทรคกิ้งไทย มีทริปเดินป่าสุดแสนผจญภัย เก็บครบทุกทักษะที่นักเดินป่าต้องมี ออกเดินทาพร้อมกับไกด์เดินป่ามืออาชีพ รับรองว่าปลอดภัย สนุกทุกทริป แน่นอน
………………………………………………………………………….
“เรายินดีช่วยให้คำปรึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมคำแนะนำ สาธิตวิธีการต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม ในครั้งต่อๆ ไป จะสามารถทำได้เอง ไม่ต้องเสียเวลามาที่ร้าน จ้า”
“ด้วยความเป็นเพื่อน บริการด้วยใจ เรายินดีให้คำปรึกษาทั้งในการใช้งาน และปัญหาต่าง ๆ”