11 อุปกรณ์เดินป่า ช่วยเหตุฉุกเฉินที่ควรมีติดเป้ เพื่อการเดินป่าหน้าฝนที่ราบลื่นราวกับเส้นไหม

เดินป่าหน้าฝน…เป็นช่วงสุดเริงร่าชวนท้าทายให้เหล่านักท่องไพรเตรียมแพคกระเป๋าเป้เข้าป่าเพื่อไปทักทายกับน้ำตก … ป่าอันเขียวขจี…ดอกไม้แรกแย้ม และสายหมอก

แต่ทว่า  การไปเดินป่าหน้าฝน เพื่อตามหาภาพในฝันนั้นก็ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้อย่างที่เรารู้ๆกันอยู่แก่ใจ  ว่าการที่เราจะไปเดินป่าหน้าฝนนั้นเราต้องเจอกับสายฝนที่เทกระหน่ำ  พายุกรรโชก และเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ อีกมากมายที่เราคาดการณ์เตรียมรับมือไว้แล้ว  และอีกหลายๆเหตุการณ์ที่เราคาดไม่ถึงว่า “ชีวิตฉันต้องมาเจออะไรอย่างนี้ด้วยเหรอเนี่ย? ฮา”

“อุปกรณ์เดินป่า ช่วยเหตุฉุกเฉินเป็นของที่เราไม่อยากเอามาใช้  แต่จำเป็นต้องมี เพราะอาจช่วยชีวิตเราในช่วงวินาทีชีวิตของเราได้”

สิ่งที่คาดว่าจะต้องเจอเมื่อไปเดินป่าหน้าฝน

1.สัมภาระในกระเป๋าเป้เปียกน้ำ   เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าก่อนเดินทางเป็นเรื่องแรก ๆ ได้เลยว่า สัมภาระในเป้เรามีโอกาสเปียกตลอดเวลา  ทั้งจากฝนตก กระเป๋าเป้ตกน้ำ  หรือมีความชื้นเข้าสู่โทรศัพท์หรือกล้องถ่ายรูปของเรา

2  ก่อไฟไม่ติด    เป็นเรื่องที่นักเดินป่าที่เพิ่งเริ่มเดินป่ามาใหม่ ๆ อาจจะยังไม่คุ้นชินกับเหตุกาณ์ก่อไฟไม่ติดมากนัก   เพราะหลายคนอาจจะเริ่มเดินป่าช่วงหน้าหนาวมาก่อน แต่พอเริ่มมาลองเดินป่าหน้าฝนดูบ้าง  พอตั้งแค้มป์เสร็จ จะก่อไฟเพื่อหุงข้าว ก็หาเจอแต่ท่อนไม้ชื้นๆ  รู้ตัวอีกทีก็ไม่มีไฟให้หุงข้าวซะแล้ว T T

3  ไฟแช็คจุดไม่ติด   เพราะเราติดการใช้ไฟแช็คในประจำวันจนทำให้หลาย ๆ คนลืมคิดไปเลยว่า ไฟแช็คเมื่อเจอกับชื้นมาก ๆ เข้า สิ่งที่ตามมาก็คือ ไฟแช็คจุดไม่ติด  และเพราะเหตุนี้แหล่ะ จึงทำให้การทำอาหารในช่วงพายุเข้าเป็นช่วงที่ยากลำบากเหมือนเดินฝ่าพายุเฮอริเคนก็ไม่ปาน

4  นอนแช่น้ำในเต็นท์/เปลมุ้ง   ประสบการณ์จำไม่รู้ลืมที่ครั้งหนึ่งนักเดินป่าหน้าฝนจะต้องเจอสักครั้ง  เพื่อให้จำได้ว่าครั้งต่อไปเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรให้นอนแห้งสบายที่สุด  ไม่ต้องนอนแช่อ่างจากุซซี่ในเต็นท์แบบไม่คาดฝันมาก่อน

5  น้ำหยดจากฟลายชีท มันต้องมีสักครั้งแหล่ะน่า ที่กำลังนั่งคุยกันอย่างสนุกสนานใต้ผืนฟลายชีท  แต่จู่  ๆ ก็มีน้ำเย็น ๆ หยดลงมาจากฟลายชีท ราวกับมีฝนย่อมๆ ให้เราต้องหาหม้อมารองน้ำนั่งฟังเสียงน้ำหยดขับกล่อมในยามราตรี

6   เสาเต็นท์หัก  การนอนที่ต้องกลิ้งหลุน ๆ ไปกับเต็นท์ที่ถูกพับย่นๆ และถูกพัดไปตามแรงลม  แถมยังต้องรู้สึกมีอะไรชื้น ๆ มาสัมผัสผิวหน้าและผิวกายอยู่ตลอดเวลา เพราะเสาเต็นท์หัก !!! คงต้องเป็น 1 ในเรื่องเล่าขำๆประจำตัวของนักเดินป่าหน้าฝน

7  ลื่นหกล้ม เท้าแพลง  “เท้า”  เป็นอวัยวะสำคัญในกิจกรรมเดินป่าเป็นอย่างมาก  เพราะเราต้องใช้เท้าเป็นพาหนะพาร่างกายของเราเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายและพากลับบ้าน   และการลื่นหกล้มจนเท้าแพลงก็มักเป็นอุบัติเหตุที่มักพบได้บ่อยจากการเดินป่า แต่การเดินป่าหน้าฝนอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ “เรา”  อาจจะลื่นล้มจนเท้าแพลงได้มากกว่าการเดินป่าในช่วงหน้าหนาว  เนื่องจากพื้นดินที่ชุ่มไปด้วยน้ำ สายฝนที่เทลงมาทำให้ทัศนวิสัยในการกะระยะทางผิดพลาด

8   สัตว์เลื้อยคลานแวะมาจะเอ๋ในรองเท้าของเรา    แน่นอนล่ะว่าเมื่อสายฝนเทกระหน่ำลงมามากๆ จนน้ำเริ่มเจิงนองท่วมรังของเหล่าน้อง ๆ ที่อยู่ใต้ผืนดิน  พอตะวันเริ่มทอแสงเหล่ามนุษย์เริ่มเปิดเต็นท์เพื่อมารับแสงตะวัน  เราอาจจะน้อง ๆ มาเซย์ฮัลโหลทักทายที่รองเท้าของเราก็เป็นได้   หรือหากเราไม่สังเกต เราอาจจะโดนน้องกัด หรือต่อยเอาโดยไม่ตั้งใจก็เป็นได้

11 อุปกรณ์เดินป่า ช่วยเหตุฉุกเฉินที่ควรมีติดเป้  เพื่อการเดินป่าหน้าฝนที่ราบลื่นราวกับเส้นไหม

1.แท่งแมกนีเซียม เป็นอุปกรณ์เดินป่า ช่วยเหตุฉุกเฉินที่แนะนำให้ซื้อพกติดตัวเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยขนาดเล็ก พกพาง่าย น้ำหนักเบามาก   และสามารถก่อให้เกิดประกายไฟที่ให้ความร้อนสูงที่สามารถจุดติดไฟได้ในสภาพทุกอากาศ แม้ว่าจะเปียกน้ำก็ตาม เพียงแต่ว่าแท่งแมกนีเซียมจะใช้คู่กับเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ง่ายไปด้วย  เช่น ก้อนสำลี  เศษหญ้าแห้ง  กระดาษทิชชู่  ฯลฯ  หรือจะใช้เป็นผู้ช่วยจุดเตาแค้มปิ้ง  ในเวลาที่แมกนีโตรของเตาแค้มปิ้งเสียก็ได้นะ

2.หัวพ่นไฟ  เป็นอุปกรณ์เดินป่า ช่วยเหตุฉุกเฉิน ที่เปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยเร่งความเร็วในการก่อกองไฟได้เป็นอย่างดี  เราจะใช้หัวพ่นไฟคู่กับแก๊สกระป๋อง  และที่สำคัญมีน้ำหนักไม่เยอะมาก และต่อให้เปียกน้ำก็ยังคงสามารถใช้งานได้ดีดังเดิม

3. ไม้เกี๊ยะ/ขี้ไต้ /ยางรองเท้า/แอลกอฮอล์ช่วยติดไฟ (เชื้อเพลิงหรือเชื้อไฟ)    เป็นผู้ช่วยสำคัญที่ทำให้การก่อไฟเร็วขึ้นและง่ายขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ที่มีความชื้นในป่าค่อนข้างสูง และเราแทบจะหากิ่งไม้แห้ง หรือใบไม้แห้งมาทำเป็นเชื้อเพลิงได้เลย  เชื้อเพลิงจึงควรเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ใน Top list ของอุปกรณ์เดินป่า สำหรับช่วยเหลือฉุกเฉิน ในการจัดกระเป๋าเป้เดินป่า

4. ถุงพลาสติก  เราแนะนำว่าควรพกถุงพลาสติกไปอย่างน้อย 3-4 ใบ  และควรมีขนาดราว 24×28 นิ้ว  ราว 1-2 ใบ  ไว้สำหรับใส่เสื้อผ้าที่ใส่แล้ว หรือเปียกชื้น และนำมาห่อรองเท้าในยามค่ำคืนก่อนเข้านอนเพื่อป้องกันสัตว์เลื้อคลานเข้าไปรองเท้าของเราได้อีกด้วย หรือสำหรับใส่ขยะส่วนตัวขณะที่ใช้ชีวิตในป่า   และถุงพลาสติกหนาขนาด 45×60 นิ้ว  สำหรับใช้นอนห่มตัวแทนถุงนอนในกรณีที่ถุงนอนเปียกชื้น  หรือสามารถใช้มีดกรีดที่ก้นของถุงพลาสติกและบริเวณด้านข้างด้านใดด้านหนึ่งของถุงพลาสติก  แล้วแผ่ออกให้มีลักษณะเป็นผืนกว้าง   แล้วนำมาวางปูที่พื้นเต็นท์เพื่อป้องกันความชื้นจากดินเข้าสู่ตัวเรา   หรือนำมาขึงให้ต่ำกว่าฟลายชีทเล็กน้อย  เพื่อป้องกันน้ำหยดลงมาฟลายชีทที่เกิดการรั่วซึมจากตะเข็บ   และยังสามารถนำมาห่อกระเป๋าเป้ในช่วงตอนนอนหรือตอนที่เราอยู่นอกเต็นท์เพื่อป้องกันสัมภาระด้านในเปียก  จากการโดนฝนสาดเข้าเต็นท์ หรือในกรณีที่เราต้องนอนเปล  แล้วต้องวางกระเป๋าเป้ไว้ด้านล่างของเปล  หากไม่มีถุงพลาสติกห่อกระเป๋าเป้ไว้  หากเจอฝนสาดแรงๆ ก็อาจทำให้กระเป๋าเป้เปียกได้

5. Duck tape  เป็นเทปผ้าขนาดหนา และมีความเหนียว  ไม่เปื่อยง่าย  ราคาไม่แพง ใช้งานได้หลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็นการพัน  แปะ  ยึด   และสามารถช่วยให้ชีวิตในการแค้มปิ้งของเราผ่านพ้นวิกฤตไปได้ในหลายๆครั้ง   เช่น  เมื่อเสาเต็นท์หักจากการที่ถูกแรงลมพัด   เราสามารถใช้ Duck tape พันและซ่อมเสาเต็นท์ที่แตกหรือหักได้แบบชั่วคราวก่อน   หรือมุมของฟลายชีทเกิดขาดจากการถูกกิ่งไม้เกี่ยวขาด ก็สามารถใช้ duck tape แปะยึดไว้ชั่วคราวก่อนได้ เป็นอุปกรณ์เดินป่า เพื่อช่วยเหตุฉุกเฉินที่ถือได้ว่าสารพัดประโยชน์จริง ๆ

6. สารดูดความชื้น  เป็นอุปกรณ์เดินป่า เพื่อช่วยเหตุฉุกเฉิน ที่แนะนำให้พกติดตัวไปอย่างยิ่งสำหรับนักเดินป่าที่ชื่นชอบการถ่ายภาพในป่า  เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้กล้องถ่ายรูปสุดที่รักของเราต้องมาด่วนจากไปก่อนร่ำลา  เพราะเจอความชื้นในป่าเข้าไปในวงจรของกล้อง  หรือโทรศัพท์

7. ผ้าห่มฉุกเฉิน   เป็นฟอยล์ผืนขนาดใหญ่  มีน้ำหนักเบา  และมีคุณสมบัติเก็บความร้อนได้ดี   จึงเหมาะสำหรับการเดินป่าหน้าฝนเป็นอย่างยิ่ง  เพราะหากถุงนอนของเราเปียก   เสื้อผ้าเราเปียกหมด   ร่างกายของเราจะค่อยๆสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย  อาจทำเกิดภาวะ Hypothermia  หรือภาวะร่างกายตัวเย็นเกิน  จนเกิดอาการช็อคได้ ผ้าห่มฉุกเฉินจึงทำหน้าที่กักเก็บความร้อนไว้กับร่างกายให้ได้มากที่สุดเพื่อป้องกันอาการนี้นั่นเอง

8. เชือก    แนะนำควรเป็นเชือกไนล่อนทรงกลม  ความยาวไม่ต่ำกว่า 15 เมตร  เพราะเชือกไนล่อนมีความเหนียว  แข็งแรง  ทนต่อแรงเสียดทาน   เราแนะนำให้พกเชือกติดกระเป๋าเป้ เพราะหากเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น  ต้องทำเชือกพยุงตัว หรือเชือกนำทางเพื่อข้ามผ่านน้ำที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกราก  หินลื่น  หรือต้องเข้าไปในถ้ำที่มืดมาก ๆ แล้วถ่านไฟฉายดันหมดกระทันหัน  ฯลฯ

9. อุปกรณ์ปฐมพยาบาล   แนะนำให้มีติดกระเป๋าเป้ทุกครั้งที่ออกเดินทาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ทำแผล เช่น น้ำเกลือ แอลกอฮอล์  ยาแดง   สำลี  พลาสเตอร์  ยาพ่นบรรเทาอาการเจ็บปวดจากขาแพลง  ฯลฯ

10. เสื้อกันฝนแบบ Panjo  หรือเสื้อกันฝนทรงปีกค้างคาว เมื่อนำมาวางแผ่ลงกับพื้นจะมีรูปร่างเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  สามารถกันฝนได้ดี  และสามารถนำมาดัดแปลงเป็นฟลายชีทฉุกเฉินก็ได้  หรือสามารถนำมาเป็นอุปกรณ์พาผู้บาดเจ็บจากอาการขาแพลงในป่าก็ได้  โดยการนำเสื้อฝนมาห่อตัวผู้บาดเจ็บแล้วนำขึ้นหลังผู้ที่ช่วย  แล้วมัดเชือกเข้ากับตัวผู้ช่วยให้แน่นพอสมควร   ลักษณะคล้ายกับที่ชาวปะกาเกอะญอนำผ้ามาห่อเด็กขึ้นหลัง

11 . มีดพกหรือ multi tools   ไว้สำหรับตัด เฉือน หรือซ่อม อุปกรณ์เดินป่า แค้มปิ้งอื่น ๆ ซึ่งปกติแล้วมีดพก หรือMulti tools  จะถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก   และเน้นการแก้ไขปัญหาแบบฉุกเฉินจริงๆ   เช่น เมื่อกางเต็นท์ออกมาแล้วพบว่าซิปของเต็นท์แตก  เราสามารถใช้คีมที่มีอยู่ใน Multi tools ออกมาหนีบบริเวณหัวซิปให้เข้ากัน ก็สามารถแก้ไขปัญหาซิปแตกได้   นอนเต็นท์กลางป่าในหน้าฝนได้อย่างสบายใจไม่ต้องกลัวเรื่องฝนสาด

“การเดินป่า” เป็นกิจกรรมผจญภัยที่อาจเกิดเรื่องไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ ตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ ไปจนถึงระดับใหญ่   ดังนั้นการแบ่งพื้นที่เล็กในกระเป๋าเป้สำหรับพกอุปกรณ์เดินป่า เพื่อช่วยเหลือฉุกเฉิน ช่วยลดขนาดของปัญหาจึงเป็นเรื่องที่ดี  ถึงแม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่เราไม่อยากเอาออกมาใช้ก็ตาม

เรื่องแนะนำ